 |
พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน |
ตั้งอยู่ในบริเวณค่ายพระรามหก ตำบลห้วยทรายเหนือ ตรงหลักกิโลเมตรที่ 216 เลยหาดชะอำมา 8 กิโลเมตร เป็นพระตำหนักที่ประทับริมทะเล ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้รื้อพระตำหนักหาดเจ้าสำราญมาปลูกขึ้นใหม่เมื่อปี พ.ศ. 2466 ได้รับขนานนามว่า “พระราชนิเวศน์แห่งความรักและความหวัง” ลักษณะเป็นพระตำหนักแบบไทยผสมยุโรป เป็นอาคารไม้ใต้ถุนสูง สร้างด้วยไม้สักทอง พระตำหนักฝ่ายในอยู่ปีกขวา ทางปีกซ้ายเป็นส่วนของฝ่ายหน้า ประกอบด้วยพระที่นั่งสามองค์เชื่อมต่อถึงกันโดยตลอด พระที่นั่งสมุทรพิมาน เป็นที่ประทับของพระนางเจ้าอินทรศักดิ์ศจี พระวรชายา พระที่นั่งพิศาลสาครเป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีอาคารข้าราชบริพารฝ่ายหน้าเป็นบริวารหลายหลัง และมีแนวระเบียงยื่นลงสู่ทะเลเป็นที่ลงสรงน้ำ และพระที่นั่งสโมสรเสวกามาตย์ เป็นอาคารโถงสองชั้นเปิดโล่งใช้เป็นที่ประชุมในโอกาสต่าง ๆ และเป็นโรงละครซึ่งเคยจัดแสดงละครครั้งสำคัญ 2 ครั้ง คือ เรื่องพระร่วง และวิวาห์พระสมุทรพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน เปิดให้เข้าชมทุกวัน ยกเว้นวันพุธ ค่าเข้าชม ชาวไทยและชาวต่างประเทศ ผู้ใหญ่ 30 บาท เด็ก 15 บาท นอกจากนี้บริเวณใกล้เคียงยังมีจุดที่น่าสนใจอื่น ๆ อีกได้แก่ ได้แก่ บ้านพักข้าราชบริพาร อนุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว บ้านเจ้าพระยารามราฆพ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 0 3250 8039 |
|
|
|
หาดชะอำ |
|
อยู่ห่างจากตัวเมืองเพชรบุรี 41 กิโลเมตร มีทางแยกซ้ายเข้าชายหาด ระยะทาง 2 กิโลเมตร เป็นชายหาดที่สวยงามและมีชื่อเสียงของจังหวัดเพชรบุรี เดิมชะอำเป็นเพียงตำบลหนึ่งขึ้นอยู่กับอำเภอหนองจอก แต่ภายหลังที่หัวหินมีชื่อเสียง ที่ดินแถบชายทะเลถูกจับจองหมด เจ้านายชั้นผู้ใหญ่สมัยนั้นจึงพยายามหาสถานที่พักผ่อนแห่งใหม่ โดยการนำของพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ และได้พบว่าหาดชะอำเป็นชายหาดที่สวยงามไม่แพ้หัวหิน ชะอำจึงเริ่มเป็นที่รู้จักตั้งแต่นั้นมา ชะอำได้รับการพัฒนาเจริญเติบโตขึ้น และยกฐานะเป็นอำเภอจนปัจจุบัน |
|
|
|
 |
หาดเจ้าสำราญ |
เป็นชายหาดที่เคยเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญมากตั้งแต่สมัยโบราณ ตามประวัติเล่ากันว่า สมเด็จพระนเรศวรมหาราช เคยเสด็จมาที่นี่พร้อมด้วยสมเด็จพระเอกาทศรถ ทรงพอพระราชหฤทัยในความงามของหาดแห่งนี้มาก ทรงประทับแรมอยู่หลายวัน จนกระทั่งชาวบ้านเรียกหาดนี้ว่า หาดเจ้าสำราญ มาจนปัจจุบัน หาดเจ้าสำราญเจริญถึงขีดสุดในสมัยรัชกาลที่ 6 หาดเจ้าสำราญมีชื่อเสียงกว่าชายทะเลแห่งใด ๆ ในเมืองไทยสมัยนั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระตำหนักที่ประทับขึ้น ณ ริมหาดแห่งนี้เรียกว่า พระตำหนักหาดเจ้าสำราญ สำเร็จในปีพ.ศ. 2461 ต่อมารื้อไปสร้างใหม่ที่บริเวณอำเภอชะอำ เรียกชื่อว่า “พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน” บริเวณหาดเจ้าสำราญบางส่วนทำเป็นกันน้ำทะเลเซาะชายฝั่ง บางส่วนเป็นหาดทรายเล่นน้ำได้ มีที่พักและร้านอาหารบริการ การเดินทาง อยู่ห่างจากตลาดเมืองเพชรบุรี 15 กิโลเมตร ตามทางหลวงหมายเลข 3177 ผ่านสถาบันราชภัฏเพชรบุรีไปประมาณ 13 กิโลเมตร สำหรับนักท่องเที่ยวที่เดินทางโดยรถโดยสารประจำทาง สามารถนั่งรถสองแถวที่วิ่งระหว่างตัวเมือง-หาดเจ้าสำราญ รถจะจอดบริเวณข้างธนาคารกรุงไทย ถนนวัดท่อใกล้หอนาฬิกา มีบริการตั้งแต่เวลา 07.30-18.15 น. |
|
|
|
หาดปึกเตียน |
|
อยู่ในท้องที่ตำบลปึกเตียน ห่างจากหาดเจ้าสำราญไปทางใต้ประมาณ 7 กิโลเมตร หรือสามารถเดินทางไปทางถนนเพชรเกษมถึงอำเภอท่ายาง แล้วเลี้ยวซ้ายตรงสี่แยกคลองชลประทานสาน 2 ประมาณ 15 กิโลเมตร บริเวณหาดปึกเตียนมีหินเรียงกันคลื่นซัดชายหาดเป็นแนวยาว ในทะเลและบนฝั่งมีรูปปั้นพระอภัยมณี นางผีเสื้อสมุทร สุดสาคร และม้านิลมังกร ศาลเจ้าแม่กวนอิม และเกาะเต่า นอกจากนั้นยังมีที่พัก ร้านอาหาร และร้านขายของที่ระลึกอยู่เรียงราย |
|
|
|
วนอุทยานเขานางพันธุรัต |
ตั้งอยู่ที่บ้านเขาไม้นวล หมู่ 2 ตำบลเขาใหญ่ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี มีเนื้อที่ประมาณ 1,562 ไร่ กรมป่าไม้ได้ประกาศจัดตั้งเป็นวนอุทยานเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2542 เพื่อสนองพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงให้อนุรักษ์พื้นที่บริเวณเขานางพันธุรัตไว้เป็นมรดกของชาติ ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาตำนานที่ได้เล่าสืบต่อกันมาเกี่ยวกับนางพันธุรัตในวรรณคดีเรื่องสังข์ทอง โดยพื้นที่วนอุทยานเป็นเทือกเขาหินปูนที่มีความสวยงาม เอกลักษณ์โดดเด่น มองเห็นได้จากริมถนนใหญ่ ทอดยาวตามแนวเพนือ-ใต้ มองดูคล้ายนางยักษ์ (นางพันธุรัต) นอนอยู่ มีโกศอยู่ทางทิศใต้ และมีปฎิมากรรมธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับตำนานเรื่องสังข์ทอง ทางวนอุทยานได้จัดทำเส้นทางสำหรับเดินศึกษาธรรมชาติ ระยะทาง 3.5 กิโลเมตรผ่านจุดที่น่าสนใจ อาทิ ยอดเมรุ กระจกนางพันธุรัต ลานเกือกแก้ว บ่อชุบตัวพระสังข์ รวมทั้งมีจุดดูนก จุดชมวิว ต้นไทรยักษ์บริเวณหุบวังเรือ และหินย้อย รูปพานยักษ์ในถ้ำมะยม กำแพงเมืองจีน เป็นต้น ในบริเวณมีศูนย์บริการนักท่องเที่ยว และลานกางเต้นท์ |
|
|
|
พระรามราชนิเวศน์ หรือ “พระราชวังบ้านปืน” |
|
ตั้งอยู่ที่ตำบลบ้านหม้อ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชประสงค์ให้สร้างด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ เพื่อเป็นพระราชนิเวศน์สำหรับประทับแรมในฤดูฝน ทรงโปรดเกล้าฯ ให้จัดซื้อที่จากราษฎร และให้จอมพลเรือสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต กับสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพเป็นแม่กองจัดการก่อสร้าง สร้างแบบสถาปัตยกรรมยุโรป ออกแบบโดยมิสเตอร์คาล เดอริง ชาวเยอรมัน เริ่มก่อสร้างในปี พ.ศ. 2452 แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2459 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานนามว่า พระที่นั่งศรเพ็ชรปราสาท และทรงเปลี่ยนเป็นพระรามราชนิเวศน์ ปี พ.ศ. 2461 ใช้เป็นที่รับรองแขกเมือง ในสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ใช้เป็นที่ตั้งของโรงเรียนผู้กำกับลูกเสือ โรงเรียนฝึกหัดครูเกษตรกรรม โรงเรียนประชาบาลประจำตำบล พระรามราชนิเวศน์ เปิดให้เข้าชมทุกวันตั้งแต่เวลา 08.00 – 16.00 น. โดยค่าเข้าชม ผู้ใหญ่ 20 บาท เด็ก 10 บาท นักเรียนนักศึกษาในเครื่องแบบ 5 บาท ชาวต่างชาติ 50 บาท สำหรับผู้ที่ต้องการจะเข้าชมเป็นหมู่คณะ และต้องการวิทยากรบรรยาย สามารถทำหนังสือถึงผู้บังคับการจังหวัดทหารบกเพชรบุรี ค่ายรามราชนิเวศน์ อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี 76000 โทร. 0 3242 8506-10 ต่อ 50259 |
|
|
|
 |
อุทยานประวัติศาสตร์พระนครคีรี (เขาวัง) |
เป็นโบราณสถานเก่าแก่คู่เมืองเพชรบุรี ตั้งอยู่บนยอดเขาใหญ่ 3 ยอด ยอดที่สูงที่สุดสูง 95 เมตร แต่เดิมชาวบ้านเรียกภูเขานี้ว่า "เขาสมน" พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงพอพระราชหฤทัยที่จะสร้างพระราชวังสำหรับเสด็จแปรพระราชฐานขึ้นบนยอดเขาแห่งนี้ จึงโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ซึ่งในขณะนั้นเป็นพระสมุหกลาโหมเป็นแม่กองก่อสร้าง จนสำเร็จเรียบร้อยเมื่อปี พ.ศ. 2403 ทรงพระราชทานนามว่าพระนครคีรี แต่ชาวเมืองเพชรเรียกติดปากว่าเขาวัง สืบมาจนบัีดนี้ พระนครคีรีมีพระที่นั่ง พระตำหนัก วัด และกลุ่มอาคารต่างๆมากมาย ส่วนใหญ่เป็นสถาปัตยกรรมตะวันตกแบบนิโอคลาสสิคผสมสถาปัตยกรรมจีน ตั้งอยู่บนยอดเขาใหญ่ๆ 3 ยอดด้วยกัน ดังนี้ ยอดเขาด้านทิศตะวันออก บริเวณไหล่เขาเป็นที่ตั้งของวัดมหาสมณาราม เป็นวัดเก่าแก่สมัยอยุธยา ส่วนบนยอดเขาเป็นที่ตั้งของวัดพระแก้ว เป็นวัดประจำพระราชวังพระนครคีรี เขายอดกลาง เป็นที่ประดิษฐานพระธาตุจอมเพชร บรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ภายใน ยอดเขาด้านทิศตะวันตก เป็นที่ตั้งของพระราชวังที่ประทับ ได้แก่ พระที่นั่งเพชรภูมิไพโรจน์ พระที่นั่งปราโมทย์มไหสวรรย์ พระที่นั่งเวชยันต์วิเชียรปราสาท พระที่นั่งราชธรรมสภา หอชัชวาลเวียงชัย หอพิมานเพชรมเหศวร์ พระที่นั่งสันถาคารสถาน หอจตุเวทปริตพัจน์ ศาลาทัศนานักขัตฤกษ์
กรมศิลปากรได้ใช้บางส่วนของพระราชวังบนยอดเขาด้านทิศตะวันตกนี้จัดตั้งเป็น พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนครคีรี ภายในเก็บรักษาโบราณวัตถุต่าง ๆ อุทยานประวัติศาสตร์พระนครคีรี เปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา 08.30–16.30 น. นักท่องเที่ยวสามารถขึ้นชมอุทยานประวัติศาสตร์พระนครคีรี (เขาวัง)ได้โดยการเดินขึ้นหรือโดยสารรถรางไฟฟ้า (ตั๋วไป-กลับ) |
|
|
|
วัดพุทธไสยาสน์ (วัดพระนอน) |
|
ตั้งอยู่เชิงเขาวังด้านทิศใต้ ถนนคีรีรัฐยา ไม่ไกลจากศาลหลักเมือง เป็นวัดเก่าแก่สมัยอยุธยา ประดิษฐานพระพุทธรูปปางไสยาสน์ที่มีลักษณะงดงามและมีขนาดใหญ่ สร้างด้วยอิฐตลอดทั้งองค์และลงรักปิดทอง ฝีมือช่างสมัยอยุธยา |
|
|
วัดมหาธาตุวรวิหาร |
|
วัดมหาธาตุวรวิหารตั้งอยู่ริมแม่น้ำเพชรบุรี อยู่ห่างจากศาลากลางจังหวัดเพชรบุรีประมาณ 500 เมตร เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ด้านศิลปะและโบราณคดีของจังหวัดเพชรบุรี ซึ่งสันนิฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยทราวดี-สุโขทัย ภายในวัดมีพระปรางค์ห้ายอด สร้างตามศิลปะขอม โดยปรางค์แต่ละองค์สร้างด้วยศิลาแลง ปรางค์องค์ใหญ่สูง 42 เมตร ภายในวิหารหลวงประดิษฐานหลวงพ่อศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งมีผู้เดินทางมาสักการะไม่ขาดสาย |
|
|